Sunday, December 6, 2015

ตั้งกฏและการทำโทษ


การตั้งกฏ เหมาะสำหรับเด็กทุกวัย กับพวกเราเองก็ยังเลือกที่จะทำตามกฏหลายต่อหลายอย่าง เช่น การเข้าคิว ถ้าเรามีประตู 3 ประตู ประตู 1ต้องเข้าคิวรอสิ่งที่เรารู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องการ ประตู 2 ต้องเข้าคิวรอสิ่งที่เราไม่รู้ว่าคืออะไร และ ประตู 3 ไม่ต้องเข้าคิว ซึ่งแน่นอนคนทุกคนก็ต้องเลือก ประตู 1 หรือไม่ก็ประตู 3 สำหรับเด็กก็เหมือนกัน เขาจะทำตามกฏก็ต่อเมื่อเขารู้แน่นอนว่าสิ่งที่เขาจะได้จากการทำตามกฏนั้นคืออะไร หรือไม่ก็เลือกที่จะไม่ทำตามกฏเสียเลย เพราะฉะนั้น มันจำเป็นมากที่จะต้องให้กฏมาเป็นส่วนช่วย
การตั้งกฏต้องเป็นกฏที่มีเหตุมีผลที่เป็นไปได้ ตรงส่วนนี้อยากให้พิจราณาจากความสามารถของเด็ก เช่น ตั้งกฏเวลากินข้าวให้นั่งนิ่งๆไม่กระโดดไปมาหรือลุกจากเก้าอี้ ความสามารถของเด็กก็ต้องสามารถนั่งนิ่งๆได้นานประมาณ 30นาทีขึ้นไป ผู้สอนสามารถตั้งกฏให้เกินความสามารถของเด็กได้นิดหน่อย เช่น ถ้าเขาจะใช้เวลากินข้าวประมาณ 45นาที แต่ความสามารถของเขานั่งนิ่งๆได้แค่ 30นาที
ตัวอย่างกฏที่อาจจะตั้ง
- ห้ามวิ่งเล่นในห้าง
- จับมือแม่เวลาเดินในตลาด
- ไม่โบกมือไปมาตอนกินข้าว
- เก็บของเล่นเมื่อเล่นเสร็จ
- อ่านหนังสือหลังทำการบ้าน
- ลองกินของใหม่ๆ
- กินผักผลไม้ที่ให้
เป็นต้น
ของรางวัล เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กพยายามทำตามกฏ เด็กแต่ละคนมีความชอบที่แตกต่างกัน ส่วนมากที่ฉันใช้ได้ผลเกือบทุกครั้งคือ ของกิน เช่น ไอศครีม หรือ คุกกี้ แต่ก็มีหลายครั้งที่ฉันใช้ของเล่นเฉพาะหน้าที่เขาเลือกเอง เช่น ถ้าเขาหยิบรถของเล่นขึ้นมาในจังหวะที่เขากำลังกินข้าว ฉันก็จะหยิบรถคันนั้นออกจากมือเขาทันที แล้วตั้งกฏ "ถ้าหนูนั่งกินข้าวนิ่งๆไม่ขยับออกจากเก้าอี้ หนูจะได้รถคันนี้" แล้วเอารถตั้งไว้ในที่เขาสามารถเห็นแต่ไม่สามารถหยิบได้ **ถ้าเขางอแง ไม่ยอมทำตาม ผู้สอนไม่ควรให้ของรางวัลเด็ดขาด เป็กกฏที่สำคัญจากวิธีจำกัดกับพฤติกรรม
ถ้าการตั้งกฏและการให้รางวัลยังไม่ได้ผล ผู้สอนสามารถใช้วิธีการทำโทษมาใช้ร่วมด้วย เพื่อให้เด็กเห็นชัดเจนในผลกระทำที่เขาจะทำ การทำโทษในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการตีหรือการทำร้ายร่างกาย แต่อยากให้เป็นการทำโทษในรูปแบบอื่นที่เขาไม่ชอบหรือไม่ชอบเป็นที่สุด เช่น เด็กส่วนมากไม่ชอบที่จะอยู่เฉยๆ หรืออยู่คนเดียว อาจจะให้เขานั่งเฉยๆหันหน้าเข้าหากำแพง,ให้เขาเข้าไปอยู่ในห้องคนเดียว จับเวลาไว้ที่ประมาณ 20วินาที(สำหรับครั้งแรกๆ ถ้ายังไม่ทำตามกฏอาจจะเพิ่มเวลา) การงดของชอบก็เป็นวิธีที่เข้าใจง่าย เช่น งดขนม, งดทีวี, หรืองดของเล่น
**ก่อนที่จะให้รางวัลหรือลงโทษ ผู้สอนควรบอกให้เด็กรู้ว่า เขาได้รางวัลหรือโดนทำโทษเพราะอะไร เช่น ไอศครีมอันนี้สำหรับเด็กเรียบร้อยไม่วิ่งเล่นในห้าง หรือ ไม่ได้ดูการ์ตูนเพราะหนูไม่กินผัก เป็นต้น

**ก่อนที่จะใช้กฏนอกบ้าน ให้ฝึกฝนในบ้านให้บ่อยครั้งก่อน ให้มั่นใจว่าเขาเข้าใจในกฏ ของรางวัล และการลงโทษ เสียก่อน


วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์
ความเป็นมาของผู้เขียน

Saturday, November 28, 2015

วิธีสอนให้ระบุอารมณ์ ใช้วิธี ABA(Applied Behavior Analysis)

ความสามารถในการระบุอารมณ์เป็นการเตรียมตัวในขั้นพื้นฐานให้เขาพร้อมกับการเรียนรู้ในการระบุอารมณ์ของตัวเขาเองในอนาคต เช่น ในอนาคตฉันอยากให้ลูกสามารถบอกได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เศร้า ดีใจ หรือเจ็บปวดเมื่อตอนไม่สบาย มันเป็นการเตรียมพร้อมให้เขาในอนาคตเพื่อที่อย่างน้อยเขาก็จะสามารถสื่อความรู้สึกที่เขามีออกมาให้คนอื่นๆได้รู้ พร้อมกับให้เขาได้ฝึกการสังเกตุสีหน้าและความรู้สึกของคนอื่นและของตัวเอง

เป้าหมาย
1. ระบุได้ว่าเศร้า
2. ระบุได้ว่าดีใจ หรือ มีความสุข
3. ระบุได้ว่าโมโห หรือ โกรธ

อุปกรณ์
1. โต๊ะและเก้าอี้ หรือ ห้องว่างๆที่ไม่มีสิ่งล้อใจ
2. รูปหน้าคนที่หลากหลายอารมณ์
3. กระจกตั้งโต็ะ
4. รางวัล

วิธีสอน
1. ตั้งคำสั่ง "รู้สึกอย่างไร" คำสั่งที่หลากหลายอาจจะเป็น "เขารู้สึกอย่างไร" "เด็กคนนี้รู้สึกอย่างไร"
2. เมื่อบอกคำสั่งเสร็จให้ชี้ไปที่รูปหรือหยิบรูปขึ้นที่ระดับสายตาของเขา แล้วบอกคำตอบเขาทันที เช่น "ดีใจ"
*ผู้สอนควรจะมั่นใจก่อนว่าผู้เรียนสบตาผู้สอนและมองที่รูปภาพ ถ้าเขายังไม่สามารถสบตาให้ย้อนกลับไปสอนวิธีสอนให้มองหน้า (การย้อนกลับไปสอนในบทเรียนเก่าเป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้เขามีพื้นฐานที่มั่นคง)
3. ใช้รูปดีใจรูปที่สองแล้วทำเหมือนข้อ 2.
4. อธิบายให้เขาฟังว่าทำไมคนนี้ถึงดีใจ เช่น ชี้ไปที่ปากแล้วบอก "เด็กคนนี้ยิ้ม" ยื่นกระจกให้เขาดูหน้าตัวเองแล้วบอกให้เขายิ้ม ถ้าเขายิ้มก็บอกว่าตัวเขาเองกำลังดีใจ อาจจะบอก "ยิ้ม (ชื่อผู้เรียน)รู้สึกดีใจ"
ถ้าเขาไม่ยิ้ม ผู้สอนก็ยิ้มให้เขาดูแล้วจับที่ปากตัวเองแล้วอาจจะพูดว่า "ยิ้ม คุณแม่(หรือชื่อผู้สอน)รู้สึกดีใจ"
5. ลองอีกทีโดยใช้รูปเดิม บอกคำสั่ง หยิบรูปขึ้นที่ระดับสายตาของเขา ชี้ไปที่ปาก(สิ่งที่ผู้สอนให้เหตุผลไปในข้างต้น) แล้วบอกเขาว่า "ดีจ...." ถ้าทำได้ก็ลดตัวช่วย เช่น "ด ....." และไม่มีตัวช่วย
6. ให้รางวัล

พอเขาตอบได้สัก 5-6รูป และสามารถแสดงอารมณ์ได้เอง ก็ให้เปลี่ยนไปเป็นรูปอารมณ์อื่น พอเขาตอบคำถามจากในรูปของผู้สอนได้ ก็ให้ใช้หลายๆโอกาสในการอ่านหนังสือถามเขาเพื่อให้เขาเห็นความหลากหลายจากหลายๆภาพ ผู้สอนอาจจะถามคำถามกลับให้มีความหลากหลาย เช่น คนไหนรู้สึกดีใจ เวลาดีใจทำอย่างไร เป็นต้น


วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์
ความเป็นมาของผู้เขียน

Monday, November 9, 2015

วิธีสอนให้ระบุเพศ (ใช้วิธี ABA Applied Behavior Analysis)

หลังจากที่ลูกสามารถพูดได้นิดๆหน่อยๆและความสนใจในสิ่งต่างๆรอบๆตัวของเขานั้นมีมากขึ้น ฉันก็อยากให้เขาสามารถแบ่งแยกระบุเพศได้ เพื่อที่จะให้เขาสนใจและมีสมาธิกับสิ่งที่ฉันกำลังพูดถึง ยอมรับเลยว่าสอนเขาครั้งแรกๆรู้สึกกล้าๆกลัวๆ คิดว่าบทเรียนนี้อาจจะเร็วเกินไปหรือปล่าวสำหรับเขา เขาจะทำได้ไหม แต่พอลองสอนไปได้แค่สองครั้ง ครั้งต่อๆไปก็ง่ายขึ้นเรื่อยๆ

เป้าหมาย
1. สามารถระบุเพศหญิงได้
2. สามารถระบุเพศชายได้

อุปกรณ์
1. รูปภาพ หรือ หนังสือ (รูปภาพผู้หญิงหรือผู้ชายควรจะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ผู้หญิงผมยาว ใส่สีชมพู ผูกโบว์ หรือใส่กระโปรง ผู้ชาย ผมสั้น ใส่กางเกง เป็นต้น)
2. โต๊ะเก้าอี้ หรือ มุมห้อง ที่ไม่มีสิ่งเร้าใจ

วิธีสอน
1. ตั้งคำสั่ง "นี่ชายหรือหญิง" คำสั่งที่หลากหลายอาจจะเป็น "คนนี้ผู้ชายหรือผู้หญิง" หรือ "เด็กคนนี้เป็นเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิง"
2. เมื่อบอกคำสั่งเสร็จให้ชี้ไปที่รูปหรือหยิบรูปขึ้นที่ระดับสายตาของเขา แล้วบอกคำตอบเขาทันที เช่น "ชาย"
*ผู้สอนควรจะมั่นใจก่อนว่าผู้เรียนสบตาผู้สอนและมองที่รูปภาพ ถ้าเขายังไม่สามารถสบตาให้ย้อนกลับไปสอนวิธีสอนให้มองหน้า (การย้อนกลับไปสอนในบทเรียนเก่าเป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้เขามีพื้นฐานที่มั่นคง)
3. ใช้รูปชายรูปที่สองแล้วทำเหมือนข้อ 2.
4. อธิบายให้เขาฟังว่าทำไมรูปนี้ถึงเป็นชาย เช่น ชี้ไปที่ผมแล้วบอก "ชายคนนี้มีผมสั้น เขาใส่เสื้อคอปกสีน้ำเงิน" พยายามอธิบายสอง สามเหตุผล เพื่อให้เขาเข้าใจว่าไม่ใช่แค่ผมสั้นก็ตัดสินใจได้ว่าชายหรือหญิง
5. ลองอีกทีโดยใช้รูปเดิม บอกคำสั่ง หยิบรูปขึ้นที่ระดับสายตาของเขา ชี้ไปที่ผมหรือเสื้อ(สิ่งที่ผู้สอนให้เหตุผลไปในข้างต้น) แล้วบอกเขาว่า "ช...า...." ถ้าทำได้ก็ลดตัวช่วย เช่น "ช ....." และไม่มีตัวช่วย
6. ให้รางวัล

พอเขาตอบได้สัก 5-6รูป ก็ให้เปลี่ยนไปเป็นรูปหญิง แล้วให้ใช้เหตุผลเดียวกับที่ใช้กับรูปชาย พอเขาตอบคำถามจากในรูปของผู้สอนได้ ก็ให้ใช้หลายๆโอกาสในการอ่านหนังสือถามเขาเพื่อให้เขาเห็นความหลากหลายทั้งชายและหญิง พอเขาเข้าใจและสามารถระบุเพศได้ชัดเจนผู้สอนอาจเพิ่มทักษะโดยให้เขาระบุว่า "เด็กผู้หญิง" หรือ "เด็กผู้ชาย"

วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์
ความเป็นมาของผู้เขียน

Monday, October 26, 2015

วิธีสอนให้พูดขณะเล่น (ใช้วิธี ABA Applied Behavior Analysis)

ฉันลองมานั่งคิดดูแล้วว่า จริงอยู่ที่ลูกฉันพูดคำแรกได้ในวิธีสอนพูดคำแรก แต่สิ่งที่ทำให้เขาพูดโต้ตอบได้มากที่สุดนั้นคือตอนที่เราเล่นกัน มันเป็นคำพูดที่ง่ายๆสั้นๆแต่มันเป็นสื่อที่แสดงให้เห็นถึงการโต้ตอบกัน เขาตื่นเต้นที่จะถึงเวลาที่เขาจะพูด เขาสนุกสนานกับสิ่งที่เขาเล่นและที่สำคัญที่สุดเราได้ใช้เวลาเล่นด้วยกัน มันเป็นการสอนที่แฝงอยู่ในการเล่นซึ่งเขาจะผ่อนคลายมากกว่าเวลาที่เขานั่งโต๊ะตั้งหน้าตั้งตาเคร่งเครียด
เป้าหมาย
- พูดคำว่า "สาม" หรือ "สั่ม"

อุปกรณ์
1. ของเล่น ขอแนะนำของเล่นที่เด็กส่วนมากสนใจและเล่นแล้วไม่เบื่อง่ายๆ
-ช้างน้อยและหิ่งห้อย
-ช้างน้อยยิงลูกบอล
-หมูน้อยยิงลูกบอล
-ลูกหินกลิ้ง
แนะนำของเล่นที่มีประโยชน์

2. ห้องว่างๆ หรือห้องที่มีสิ่งดึงดูดน้อยที่สุด
3. รางวัล

วิธีสอน
1. วางของเล่นกลางห้องในห้องว่างๆหรือห้องที่มีสิ่งดึงดูดน้อยที่สุด ตั้งคำสั่ง "ไปเล่นกัน"
- ครั้งต่อๆไปให้สังเกตุ ถ้าเขาแสดงออกว่า เขาตื่นเต้นที่อยากจะเล่น ให้ใช้คำสั่งที่หลากหลาย เช่น "มาเล่นจับหิ่งห้อยกัน"
2. นับ หนึ่ง สอง สาม(สั่ม) แล้วเล่นให้เขาดู (อย่าใช้เวลานานในการเล่น)
3. หยุดเล่นหรือปิดเครื่อง แล้วชวนเขาเข้ามาเล่นด้วย อาจจะถามเขาว่า "เล่นมั้ย" (ในกรณีที่ไม่ตอบสนอง ให้ย้อนกลับไปที่ข้อ 1อีกครั้ง แต่ถ้ายังงัยก็ไม่ตอบสนอง ให้เปลี่ยนของเล่น)
4. นับ หนึ่ง สอง สาม(สั่ม) แล้วเล่นด้วยกัน ทำอย่างนี้สัก3รอบ
5. ทำท่าเหมือนจะเล่นด้วยกันอีกรอบ นับ หนึ่ง สอง ....... รอให้เขาพูดคำว่า สาม(สั่ม) (ถ้าเขาไม่พูดให้ย้ำข้อนี้อีก 3รอบ ถ้ายังไม่พูดให้ผู้สอนเล่นเหมือนปกติ แล้วย้ำข้อนี้อีกครั้ง)
6. ให้รางวัล ถ้าเขาพูดคำว่า "สาม(สั่ม)" ชมและให้รางวัลเขาอย่างสุดๆ
- ในกรณีที่ไม่พูด กอดและชมเขา อาจจะบอกเขาว่า "เล่นด้วยกันสนุกสุดๆเลย"

*อย่าเล่นกับของเล่นชิ้นเดียวนาน เขาจะได้ไม่เบื่อและผู้สอนสามารถนำมาเล่นได้อีกครั้งหน้า ของเล่นชิ้นนึงน่าจะใช้เวลาเล่นประมาณ 5นาที ถ้าเขายังติดลมอยากเล่นต่อ ให้เปลี่ยนของเล่นทันที
*คำเตือน พยายามอย่าให้เขาเล่นได้เองคนเดียว ถ้าเขาทำได้เองเขาจะไม่ได้แรงพลักดันให้พูด

พอเขาทำได้แล้วก็อาจเปลี่ยนเป้าหมายเป็น "ไป"  อาจจะบอก "เข้าที่ เตรียมตัว ......."


วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์
ความเป็นมาของผู้เขียน

Sunday, October 4, 2015

วิธีสอนให้ตอบคำถามพื้นฐาน ใช้วิธี ABA (Applied Behavior Analysis)

ฉันพูดกับลูกทั้งวัน พูด ๆๆๆ พูดไปเท่าไรก็ไม่มีเสียงตอบกลับมาเลย เหมือนว่าพูดอยู่คนเดียว บางทีก็คิดว่าบ้าป่าวเนี่ยพูดคนเดียวอยู่ได้ อยากให้เขาตอบอะไรกลับมาบ้าง ฉันถามเขาคำถามเดิมๆวันละเป็นสิบๆครั้ง ให้เขาตอบคำตอบเดิมๆ ให้เบื่อกันไปข้างหนึ่งเลย แรกๆเหนื่อยมาก แต่พอเขาเริ่มเข้าใจถึงการถามและตอบ คำถามต่อๆไปก็จะเริ่มมีการตอบสนองที่เร็วขึ้นและถูกต้องมากขึ้น

เป้าหมาย
1. ตอบคำถามได้ด้วยตัวช่วยคำตอบ
2. ตอบคำถามได้ด้วยตัวช่วย 1เสียง
3. ตอบคำถามได้โดยไม่มีตัวช่วย

อุปกรณ์
1. ในกรณีที่ผู้เรียนสามารถอ่านหรือมีความสนใจในตัวอักษร(ถ้าเขามีความสนใจในตัวอักษร ก็ไม่จำเป็นว่าเขาสามารถอ่านออกหรือไม่) ให้เขียนคำตอบลงกระดาษ และอาจจะต้องใช้กระดาษเปล่าที่มีขนาดเดียวกับกระดาษที่เขียนคำตอบ
2. ทีนั่ง จะเป็นโซฟา เก้าอี้ เบาะ หรือนั่งพื่น ก็ได้ แต่ต้องเป็นที่ที่มีสิ่งยั่วเย้าน้อยที่สุด
3. รางวัล

วิธีสอน
1. ตั้งคำถาม เช่น "ชื่ออะไร" คำถามที่หลากหลายอาจจะเป็น "หนูชื่ออะไร"
2. ถามเสร็จ ให้บอก "พูด สมชาย" กรณีที่ใช้คำตอบบนกระดาษ ยื่นให้เขามอง ชี้ไปที่คำแล้วลากนิ้วจากตัวอักษรตัวแรกไปถึงตัวสุดท้าย แล้วพูด "ส ม ช า ย"
 - พอเขาเริ่มที่จะมีเสียงตอบ(ไม่จำเป็นต้องเป็นคำตอบ) ครั้งต่อไปให้ลดตัวช่วยลงโดย พูดว่า "สมช....." ถ้าใช้คำตอบบนกระดาษ ยื่นให้เขามองแล้วปิดตัวอักษรสามตัวสุดท้ายแล้วค่อยๆเปิดพร้อมกับพูดว่า "สมช....."
- พอเขาตอบได้แต่ตอบบ้างไม่ตอบบ้าง ให้ลดตัวช่วยลง พูดว่า "ส...ม......" ถ้าใช้คำตอบบนกระดาษ ให้ยื่นกระดาษเปล่าที่มีขนาดเดียวกัน แล้ววางไว้บนข้างหน้าเขา พร้อมกับชี้บนกระดาษเปล่าพร้อมกับพูดว่า "ส...ม......."
3. พอเขาเริ่มที่จะมีเสียงตอบ (ไม่จำเป็นต้องเป็นคำตอบ) อาจจะชมเขาว่า "ตอบชือ สมชายได้เก่งมาก"
4. ให้รางวัล
*ทุกครั้งที่ถาม ผู้เรียนต้องสบตาผู้ถาม ถ้าผู้เรียนไม่สามารถสบตาได้ให้ย้อนกลับไปฝึกการมองหน้า
ถ้าผู้เรียนยังทำไม่ได้ อย่าเพิ่งท้อถอยนะคะ เป็นเรื่องปกติมากที่บางครั้งเราต้องย้อนกลับไปฝึกบทเรียนก่อนหน้านี้ แต่ฉันรับรองได้นะคะว่าถ้าได้ย้อนบทเรียนเก่า บทเรียนนั้นจะง่ายขึ้นและจะยิ่งทำให้ผู้เรียนมีพึ้นฐานที่แข็งแรงขึ้น

ในกรณีที่ตอบได้มากกว่า80% ให้ตั้งคำถามใหม่ คำถามที่ถามควรเป็นคำถามที่กระชับรัดกุม และคำตอบเป็นคำตอบที่สั้นได้ใจความ เช่น "อายุเท่าไร", "แม่ชื่ออะไร", "นามสกุลอะไร"

วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์
ความเป็นมาของผู้เขียน

Thursday, September 17, 2015

วิธีสอนระบายสีในเส้น (ใช้วิธี ABA Applied Behavior Analysis)

ตอนลูกประมาณ 3ขวบได้ เขาเริ่มจับปากกา ดินสอ แต่พอเอากระดาษรูปการ์ตูนให้ระบายสี เขากลับไม่ระบาย พยายามทำให้เขาดูว่าระบายแบบนี้นะ จับสีเทียนแบบนี้ แล้วค่อยๆระบาย สอนแบบไหนเขาก็ไม่ทำตาม ไม่รู้ว่าทำไม พอมานั่งคิดก็คิดว่าไม่แน่ลูกเรายังไม่พร้อม อาจจะต้องใช้เวลาหน่อย ฉะนั้นอาจจะต้องเตรียมความพร้อมของเขาแล้วค่อยๆสอนกันไป พอเขาเริ่มจับดินสอสีหรือสีเทียนได้ ฉันก็ให้รูปการ์ตูนเขาระบายอีก เขาก็ระบายทั่วไปหมดแล้วก็จะใช้แค่สีเดียวไม่ยอมเปลี่ยน บางทีระบายจนกระดาษขาด ฉันคิดว่าเขาอาจจะไม่เข้าใจว่าการระบายสีควรจะเป็นอย่างไร

เป้าหมาย
1. ระบายในเส้นรูปสี่เหลี่ยมแบบ 1 ได้
2. ระบายในเส้นรูปสี่เหลี่ยมแบบ 2 ได้
3. ระบายในเส้นรูปสี่เหลี่ยมแบบ 3 ได้
4. ระบายในเส้นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี่ยว
5. ใช้หลายสีระบายรูปปลา

อุปกรณ์
1. รูปสี่เหลี่ยมแบบ 1, แบบ 2, แบบ 3, รูปพระจันทร์, และรูปปลา
2. ดินสอสี หรือ สีเทียน
3. โต็ะและเก้าอี้
4. รางวัล หรือกระดานรางวัล
**ตัวช่วย ที่จับดินสอ ช่วยให้เด็กสามารถวางนิ้วได้ถูกต้อง และช่วยให้นิ้วมือไม่เจ็บ
**ตัวช่วยฝึกฝนการจับดินสอ (ตัวช่วยฝึกฝนการจับดินสอในลิงค์นี้ไม่สามารถส่งตรงไปไทยได้ ถ้าผู้อ่านต้องการติดต่อได้ในนะคะ ฉันอาจจะช่วยในเรื่องของการส่งของได้คะ) เป็นของเล่นที่ช่วยเตรียมความพร้อมของมือและนิ้วมือในการจับดินสอหรือสีเทียน ทั้งยังช่วยในเรื่องของสมาธิและการสังเกตุ


วิธีสอน
1. วางรูปสี่เหลี่ยมแบบ 1 บนโต็ะ แล้วตั้งคำสั่งที่1 "ระบายสี" คำสั่งที่หลากหลายอาจจะเป็น "มาระบายสีกัน"
2. บอกคำสั่ง พาเขามานั่งที่โต็ะ ให้เขาเลือกสี ในกรณีที่เขาไม่เลือกให้เลือกสีให้เขาและหยิบใส่มือเขาสำหรับครั้งแรกๆ พอเขาเริ่มเข้าใจคำสั่งอาจจะชี้หรือบอกให้เขาหยิบเอง
3. ตั้งคำสั่งที่2 "ระบายสีในเส้น"
4. บอกคำสั่งที่2 แล้วจับมือเขาจับดินสอสีหรือสีเทียนในรูปแบบของการจับดินสอ จับมือเขาในรูปแบบเดียวกัน นิ้วโป้งของคนสอนอยู่บนนิ้งโป้งของเขา นิ้วชี้และนิ้วกลางทำเช่นเดียวกัน
พอเขาเริ่มสนใจและสามารถจับดินสอสีหรือสีเทียนได้เอง ก็ช่วยเขาโดยจับแค่ข้อมือ
พอเขาสนใจและสามารถจับดินสอสีหรือสีเทียนได้คล่อง ก็ไม่ต้องช่วย แต่ยังนั่งด้วยใกล้ๆ
พอเขาทำได้เองอย่างคล่องแคล่ว ก็ค่อยๆออกห่างให้เขาสามารถทำงานได้เองตั้งแต่ต้นจนจบ
5. ขยับมือระบายสีพร้อมกับพูดย้ำๆ "ระบายสีในเส้น" 
ถ้าเขาระบายไม่ทั่วก็ชี้ไปที่ที่ยังไม่ระบายแล้วอาจพูด "ระบายที่ขาว" 
6. ชมเขาเป็นระยะๆ จนเขาระบายสีเสร็จชมและให้รางวัลเขา
ย้อนกลับไปทำข้อ 1 แต่เปลี่ยนเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบ 2, แบบ 3, รูปพระจันทร์ครึ่งเสี่ยว, และรูปปลา
สำหรับรูปปลาถ้าผู้เรียนยังไม่เข้าใจถึงการเปลี่ยนสีในการระบาย ให้ลากเส้นกรอบแต่ละสีให้เขาก่อนที่จะให้เขาระบาย อาจบอกให้เขาสังเกตุในแต่ละสี





วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์

Thursday, August 20, 2015

วิธีสอนพูดคำแรก

การสอนพูดคำแรกไม่ใช่เรื่องง่าย อาจจะต้องลองแล้วลองเล่าหลายต่อหลายครั้ง อย่าเพิ่งท้อถอย เพราะพอเขาพูดได้แล้ว อะไรๆมันก็จะง่ายขึ้น ก่อนที่จะเข้าวิธีสอน อยากขอให้กำลังใจทุกคนที่อยู่ในระยะเริ่มต้น ฉันผ่านมาแล้วคะ ลำบากยากแค่ไหนฉันรู้ดีกว่าใคร แต่คนอย่างฉันยังผ่านมาได้หมายความว่าทุกคนก็สามารถผ่านมันไปได้ เพราะฉะนั้นเรามาเริ่มกันเลยคะ

เป้าหมาย
1. ออกเสียงได้ 1เสียง
2. ออกเสียงได้ 1เสียง และสระ 1เสียง
3. ออกเสียงได้ 1คำ

อุปกรณ์
1. รูปลูกบอล (ฉันเลือกคำนี้เพราะฉันคิดว่าสระ -ออ เป็นสระที่ออกเสียงง่าย แต่จริงๆแล้วจะเป็นรูปอะไรก็ได้ ที่คิดว่าลูกสามารถพูดได้ หรือที่เขาสนใจเป็นพิเศษ)


2. คำศัพท์คำว่า "บอล" อย่าดูถูกความสามารถของลูกเป็นเด็ดขาด ถึงเขาจะไม่สามารถพูด ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่สามารถอ่าน เด็กออทิสติกส่วนมากชอบและสนใจในตัวอักษร เพราะลูกบอลมีหลายแบบหลายขนาดแต่มันก็เรียกว่า "บอล"เหมือนกันหมด แต่คำว่า "บอล"ยังงัยมันก็เหมือนเดิมไม่เปลี่ยน มันเป็นสิ่งที่ตายตัวที่พวกเขาชอบ


3. โต็ะและเก้าอี้ ในห้องที่มีสิ่งเร้าใจน้อยที่สุด หรือจะเป็นมุมห้องก็ได้
4. รางวัล

วิธีสอน (ถ้าผู้สอนไม่คิดว่าเด็กจะสามารถอ่านได้ให้ใช้รูปลูกบอลแทนในข้อ 1.)
1. หยิบคำศัพท์ขึ้นในระดับสายตาของเขาแล้วพูด "บอล" แล้ววางคว่ำลงอย่างรวดเร็ว (ระยะเวลาที่ให้ผู้เรียนเห็นคำศัพท์สั้นเท่าไรยิ่งดี ประมาณ1วินาทีหรือน้อยกว่านั้น เพื่อให้เขารู้สึกอยากเห็นอีก แต่ต้องให้แน่ใจว่าเขามอง) ทำอย่างนี้ 5ครั้ง จำนวน 3รอบต่อวัน
2. หลังจากที่อ่านคำศัพท์/ดูรูป 5ครั้ง หยิบรูปลูกบอลขึ้นมา แล้วชี้ไปที่รูปภาพพูด "บอล นี่คือบอล" (ให้เขาอยากจับ หรือถือรูปภาพ ถ้าเขาสนใจ นานเท่าไรยิ่งดี เพือให้เขาเข้าใจว่ารูปนี้คือบอล) อธิบายลักษณะของบอลว่า สีอะไร เป็นแบบไหน ไว้เล่นอะไร (ถ้าเขาไม่สนใจเท่าไรก็ไม่ต้องอธิบายมาก)
3. ในกรณีที่เขายังไม่พูด ให้รางวัลโดยการกอดเขาเบาๆและชมเขา
    ในกรณีที่เขาเริ่มมีเสียงพูดออกมา1เสียง บะ..... ให้รางวัลในสิงที่เขาชอบหรืออยากได้มาก อาจจะเป็นของเล่นหรือของกินก็ได้ และแน่นอนกอดเขาให้แน่นๆและชมเขา
    ในกรณีที่เขามีเสียงพูดออกมา 2เสียง บอ.... ให้รางวัลมากขึ้น
     ในกรณีที่เขาพูดทั้งคำ บอล ให้รางวัลมากที่สุดที่จะให้ได้ ชมเขาให้เยอะที่สุด โทรหาคนรอบข้างชมเขาให้คนอื่นได้ยิน กระโดด ดีใจ ทำอะไรก็ได้ให้เขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของผู้สอน




วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์

Tuesday, July 21, 2015

วิธีสอนให้ติดตามเนื้อเรื่อง (ใช้วิธี ABA Applied Behavior Analysis)

ฉันอยากให้ลูกสามารถติดตามเนื้อเรื่องได้ เพราะฉันคิดว่าการอ่านหนังสือเป็นการเปิดโลกกว้าง แถมยังได้เรียนรู้ภาษาที่หลากหลายออกไป ก่อนที่จะสอนให้เขาติดตามเนื้อเรื่อง ตัวฉันเองต้องมั่นใจก่อนว่าเขาสามารถนั่งนิ่งๆได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งนิ่งๆเป็นเวลานาน อย่างน้อย 30วินาทีก็เพียงพอต่อการเริ่มต้น หนังสือที่เลือกมาก็เป็นสิ่งสำคัญ ในตอนแรกๆควรเป็นหนังสือรูปภาพ เนื้อเรื่องในแต่ละหน้าสั้นกระทัดรัด เข้าใจง่าย เนื้อเรื่องเป็นคำซ้ำๆยิ่งดี ขอยกตัวอย่างหนังสือภาษาอังกฤษที่ฉันได้ใช้กับลูก
- Brown Bear Brown Bear, What Do You See?
- Who Am I? Farm Animals
- From Head to Toe
หนังสือบางเล่มทำให้เขานั่งได้นานมากขึ้น เพราะรูปภาพที่น่าสนใจ หรือรูปภาพขยับได้ เช่น
- Bee and Me
- Little Red Plane
- Little People (pop up)

เป้าหมาย
1. นั่งฟังได้ 1 หน้า
2. นั่งฟังได้ 3 หน้า
3. นั่งฟังได้ ครึ่งเล่ม
4. นั่งฟังได้จนจบ
5. นั่งฟังได้จนจบรวมถึงถามคำถามแล้วตอบ

อุปกรณ์
1. หนังสือ
2. ที่นั่งที่สบาย เช่น บนโซฟา หรือ มุมห้องที่มีหมอนและตุ๊กตาเยอะๆ ผู้เรียนอาจนั่งถัดจากผู้สอนหรือนั่งตักผู้สอนก็ได้
3. รางวัล หรือ กระดานรางวัล

วิธีสอน
1. ตั้งคำสั่ง "อ่านหนังสือ" ต่อมาใช้คำสั่งที่หลากหลาย เช่น "มาอ่านหนังสือกัน" หรือ "ไปอ่านหนังสือด้วยกัน"
2. ทันทีที่บอกคำสั่ง ชึ้ไปที่หน้าปกแล้วอ่านชื่อเรื่อง (ในกรณีที่เขาไม่มองที่หนังสือ ให้ยกหนังสือขึ้นที่ระดับสายตาของเขา) เปิดไปหน้าแรกของเนื้อเรื่อง แล้วอ่านเนื้อเรื่อง อ่านจบปิดหนังสือทันที
3. ชมเขาและให้รางวัล "อ่านหนังสือได้เก่งมาก"
ถ้าเขาสนใจหนังสือ ก็อ่านต่อได้เลย แต่ต้องสังเกตุ ถ้าเขาเริ่มที่จะไม่สนใจ หรือเบื่อ ให้หยุดทันที ให้เขาพักสักพัก แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่ พอเราได้อ่านซ้ำๆตั้งแต่ต้นอย่างนี้ เขาจะเริ่มคุ้นเคยกับคำที่เราพูดแล้วเขาจะค่อยๆสนใจในสิ่งที่เราอ่าน พอเขาเริ่มสนใจฉันก็จะพยายามอ่านให้จบเล่ม พอได้จบเล่ม ครั้งถัดไปฉันก็เริ่มที่จะมีคำถาม เพื่อให้เขาดูรูปภาพได้นานขึ้นและสังเกตุสิ่งรอบตัวในหนังสือ เช่น "เห็นกระต่ายมั้ย" , "กระต่ายสีอะไร", "กระต่ายมีกี่ตัว" เป็นต้น




วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์

Thursday, June 18, 2015

การสอนแบบบังเอิญ Incidental Teaching

มันเป็นการสอนที่ฉันใช้กับลูกเป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาอะไร ก็สามารถสอนได้ แต่ตัวฉันเองต้องพร้อมต่อสถาณการ์ณตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกเดินไปหยิบของเล่น ฉันเห็นเขาเอื้อมไปหยิบลูกบอลสีเหลือง ฉันรีบคว้าลูกบอลสีเหลืองลูกนั้น แล้วฉันก็หยิบลูกบอกอีกลูกที่มีสีต่างกัน ฉันถามลูกว่า "จะเอาอะไร" เขาอาจตอบว่า "บอล" ฉันถามต่อ "สีอะไร" ถ้าเขาไม่ตอบ ฉันก็อาจจะให้ตัวเลือก "สีเหลือง หรือ สีแดง" ถ้าเขาเอื้อมมือมาหยิบ ฉันก็จะดึงออก แล้วค่อยๆบอกคำตอบที่เขาควรจะพูด เช่น ฉันพูด "สี........" ถ้าเขายังไม่ตอบ ฉันก็เพิ่มตัวช่วย "สี...ด...แ....." บางครั้งฉันก็ตั้งใจให้สถาณการ์ณมันเกิดขึ้น โดยที่ฉันสร้างมันขึ้นมาเอง เช่น เล่นของเล่นที่จำเป็นต้องใช้ลูกบอลใส่ลงไป เล่นกันได้สักพัก ฉันก็เก็บลูกบอลไว้ข้างๆฉัน แล้วค่อยถามเขา
- ลูกฉันชอบดื่มนมมาก ทุกวันจะดื่มประมาณ ๔-๖แก้ว เขาจะพูดว่า นม นม ฉันคิดว่ามันเป็นสถาณการ์ณที่เหมาะมากในการสอนเขาให้พูดเป็นประโยค จากคำว่า นม เฉยๆ เขาก็พูด เอานม, จะเอานม, มามมี่หนูอยากดื่มนม, หนูดื่มนมได้มั้ย หลังๆ ถ้าเขาไม่พูดเต็มประโยค หรือพูดแล้วไม่มองหน้าเหมือนพูดลอยๆ ฉันก็จะเผิกเฉย เหมือนไม่ได้ยิน ด้วยความที่เขาอยากดื่มนมเขาก็จะเดินมามองหน้าฉันแล้วบอกสิ่่งที่เขาต้องการ
- ฉันต้องการให้เขาตอบ ใช่ หรือ ไม่ใช่ พร้อมกับพยักหน้า หรือ ส่ายหัว ฉันให้เขาดูการ์ตูนวันละประมาณ ๑หรือ ๒ตอน แต่เขาจะต้องเป็นคนเลือกเองว่าจะดูอะไร ฉันให้เขาดูรูปตัวการ์ตูนทั้งหมดที่เขาสามารถดูได้ แล้วถามเขาว่าจะดูอะไร เขาก็จะตอบตัวการ์ตูนที่เขาชอบ เช่น แฮนดี้แมนนี่ ฉันหยิบการ์ตูนเรื่องอื่นให้เขาดูแล้วถาม "อันนี้ใช่แฮนดี้แมนนี้หรือเปล่า" เขาต้องตอบ "ไม่" พร้อมกับส่ายหัว ฉันถามเขาอย่างนี้จนเขาจะตอบ "ใช่" พร้อมกับพยักหน้า
มันมีหลายต่อหลายสถาณการ์ณที่ฉันใช้การสอนแบบบังเอิญ มันมีประโยชน์มาก ทำให้เขาพูดจาได้ชัดเจนขึ้น พูดได้เต็มประโยค และที่สำคัญ เข้าใจในสถาณการ์ณว่าควรจะพูดอย่างไร

วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์

Monday, June 15, 2015

วิธีสอนให้มองหน้า (ใช้วิธี ABA Applied Behavior Analysis)

วิธีสอนให้มองหน้า ฟังเหมือนเป็นสิ่งง่ายที่ใครๆก็ทำกัน แต่สำหรับคนออทิสติกแล้ว มันเป็นสิ่งที่ยากสำหรับพวกเขา การสอนในเริ่มแรกควรสอนในห้องหรือมุมห้องที่ไม่มีสิ่งรบกวน รวมไปถึงสิ่งตกแต่งต่างๆในห้อง ถ้าไม่มีห้องว่างก็สามารถใช้มุมห้องที่ไม่มีการตกแต่ง ให้คนเรียนนั่งหันหน้าเข้าที่มุมห้อง คนสอนอาจจะนั่งหลังชนมุมห้องหรือนั่งข้างๆ
เป้าหมาย
1. มองหน้าได้ 1วินาที ในระยะ 1 ฟุต
2. มองหน้าได้ 5วินาที ในระยะ 1 ฟุต
3. มองหน้าได้ 5วินาที ในระยะ 2 ฟุต
4. มองหน้าคนพูด

อุปกรณ์
1. ที่นั่งสำหรับเด็กและคนสอน โดยที่หน้าทั้งสองอยู่ในระดับเดียวกัน
2. รางวัล หรือ กระดานรางวัล

วิธีสอน
1. ตั้งคำสั่ง "มองหน้า" ต่อมาให้คำสั่งที่หลากหลาย เช่น เรียกชื่อคนเรียน
2. ทันทีที่บอกคำสั่ง ให้มือทั้งสองข้างป้องข้างตาทั้งสองข้างของเขาให้เขามองมาที่คนสอนเท่านั้น เมื่อทำได้ลดการช่วยลง โดยป้องมือในระยะห่างจากหน้าของเขา, ใช้ของรางวัลหรือของเล่นที่เขาชอบแตะที่ระหว่างตาของคนสอน(เพื่อให้เขามอง), และ ไม่มีการช่วย
3. ให้รางวัล และชมเขาทันที "มองหน้าได้เก่งมาก"

การสอนให้มองหน้าเป็นสิ่งที่แรกๆที่ฉันสอนลูก จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ประมาณปีครึ้งเห็นจะได้ เวลาเขาจะเอาอะไร เขาก็จะมองหน้าแล้วบอกสิ่งที่เขาต้องการ แต่บางครั้งเขาก็พูดขึ้นมาแล้วเดินผ่านๆ ฉันได้ยินอยู่หรอกนะว่าเขาต้องการอะไร แต่เพียงแค่อยากให้เขาเข้าใจว่าถ้าเขาไม่มองหน้าคนพูดด้วย อีกฝ่ายก็จะไม่รู้ว่าเขาคุยด้วย ฉันก็ทำเป็นไม่ได้ยินหรือบางครั้งก็ถามเขาว่า ลูกพูดกับแม่หรือเปล่า เขาก็จะเดินมาใกล้ๆมองหน้าฉัน แล้วบอกฉันอีกทีว่าเขาต้องการอะไร การสอนแบบนี้เรียกว่า การสอนแบบบังเอิญ Incidental Teaching มันเป็นการสอนที่สำคัญมากสำหรับคนออทิสติก เพราะมันทำให้เขาเข้าใจถึงสถานการณ์จริง

วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์

Wednesday, May 20, 2015

วิธีจัดการกับพฤติกรรม (Guidelines to Developing Behavior Management Strategies)

พฤติกรรมของลูกเป็นสิ่งที่อธิบายยากมาก ในสถานการ์ณหนึ่งเด็กแต่ละคนก็มีพฤติกรรมแตกต่างกันไป ถ้าเขาทำสิ่งที่เราไม่ต้องการให้ทำ เราก็บอกเขา แล้วเขาก็ทำตามที่เราพูด แต่ถ้าไม่ทำตามที่เราพูด มันก็จะกลายเป็นภาพที่ไม่น่าดู บางทีก็ร้องไห้ กรีด ขว้างของ หรือโขกหัว บางคนก็บอกให้ฉันตี เด็กมันจะได้จำ บางคนก็บอกให้รางวัลเวลาเขาทำดี เขาจะได้เลือกที่จะทำดี หลายต่อหลายอย่าง ไม่รู้จะเลือกทำอะไร กลัวว่าทำไปแล้วผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี วันนี้ฉันเลยอยากแนะนำวิธีการแก้ไขพฤติกรรมตามแบบฉบับของ ABA (Applied Behavior Analysis) ฉันใช้วิธีนี้เป็นเวลา 1ปีเต็ม พฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นหายไปอย่างไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกทีก็ตอนหารูปลูกมาลงเวปแล้วไปเจอข้อมูลที่ตัวเองพิมพ์ไว้

ขั้นตอนที่ 1. เขียนพฤติกรรม
  • ระบุพฤติกรรมที่ต้องการปรับปรุง
  • อธิบายพฤติกรรมให้ละเอียดในรูปแบบของการสำรวจ ตัวอย่างเช่น ระบุพฤติกรรมการโมโห อาจจะเขียนว่า "โมโห ประกอบด้วยอาการ กรีด โขกหัว ร้องไห้ หรือกลั้นหายใจ"
ขั้นตอนที่ 2. สะสมข้อมูล (ทุกพฤติกรรมที่เด็กทำมีเป้าหมาย)
  • สังเกตุการ์ณพฤติกรรมและอธิบายเหตุผลของการกระทำว่าทำไมเด็กถึงทำเช่นนี้
  • จดบันทึกเหตุการ์ณของก่อนพฤติกรรม (อะไรเกิดก่อนพฤติกรรมนี้) พฤติกรรม (สังเกตุการกระทำในพฤติกรรม) และเหตุการ์ณลงท้าย (อะไรเกิดขึ้นหลังจากพฤติกรรม)

    ความน่าจะเป็น มี:
    หลีกเลี่ยง หรือ หนี เช่น จากการทำงาน, จากสถานการ์ณ, หรือจากการกระทำ
    เรียกร้องความสนใจ
    เรียกร้องสิ่งของ เช่น ของกิน, ของเล่น, หรือเล่นเกม
    ความต้องการทางระบบประสาท


หลังจากสะสมข้อมูลข้างต้นเสร้จ ฉันก็มาดูว่าพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนโดยการเก็บข้อมูลที่มี 3รูปแบบ รูปแบบ 1. บันทึกความบ่อยครั้ง บันทึกความบ่อยครั้งของพฤติกรรมในช่วงเวลาที่กำหนด วิธีนี้เหมาะสำหรับพฤติกรรมที่มีความแน่นอน เช่น โยนของ ทุบตีสิ่งของ
แบบฟอร์มรูปแบบ 1


        รูปแบบ 2. บันทึกเป็นช่วงเวลา บันทึกความนานของเวลาที่พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้น ใช้นาฬิกาจับเวลาเริ่มจับเวลาตั้งแต่พฤติกรรมเริ่มต้นจนจบ วิธีนี้เหมาะสำหรับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ เช่น เหม่อลอย
แบบฟอร์มรูปแบบ 2


        รูปแบบ 3. บันทึกช่วงเวลาของพฤติกรรมที่คาดว่าจะเกิดขึ้น บันทึก ใช่/ไม่ ถ้าพฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คาดการ์ณไว้ วิธีนี้เหมาะสำหรับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นรุนแรงในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น โบกมือไปมา
แบบฟอร์มรูปแบบ 3

เมื่อฉันรู้พฤติกรรมของลูกและความต้องการของพฤติกรรม ฉันก็สามารถหาวิธีมาช่วยให้พฤติกรรมนั้นๆหายไปได้

ขั้นตอนที่ 3. กำหนดวิธีจัดการกับพฤติกรรม
วิธีก่อนพฤติกรรม เป็นการควบคุมสถานการ์ณก่อนที่พฤติกรรมเกิดขึ้น สำหรับปกป้องพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้น
วิธีการแก้ไขพฤติกรรมในระยะสั้น โดยใช้พฤติกรรมหรือความสามารถมาแทนที่ และสามารถทดแทนพฤติกรรมที่ท้าทายกลับให้เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม
พฤติกรรมที่แทนทีต้องเป็นสิ่งที่ไม่เกินความสามารถของผู้เรียน ตัวอย่าง



วิธีการแก้ไขพฤติกรรมในระยะยาว โดยใช้ความพอใจหรือการปรับตัวของพฤติกรรม เช่น อะไรที่ผู้เรียนควรจะทำแทนที่จะเผชิญหน้ากับพฤติกรรมที่เป็นปัญหา


จัดสถานการ์ณที่คิดว่าพฤติกรรมที่ท้าทายนั้นอาจจะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น รู้ว่าผู้เรียนจะร้องโวยวายเมื่อบอกให้หยุดเล่นคอมพิวเตอร์ ฉันก็ให้เขาเล่นคอมพิวเตอร์แล้วบอกให้เขาหยุด ทันทีที่บอกให้เขาหยุด ฉันก็บอกให้เขาทำกิจกรรมถัดไป หรือให้เขาเล่นเพิ่ม 5นาที แล้วอาจจะใช้คอมพิวเตอร์เป็นของรางวัลในกิจกรรมอื่น 

ถ้าเป็นไปได้ก่อนที่จะจัดสถานการ์ณนั้น ควรจะทราบเสียก่อนว่า พฤติกรรมที่ท้าทายนั้นเกิดขึ้นเพื่ออะไร เช่น ร้องโวยวาย เกิดขึ้นเพื่อ เรียกร้องความสนใจ และต้องการเล่นคอมพิวเตอร์ต่อ ฉะนั้นถ้าพฤติกรรมที่ท้าทายนั้นเกิดขึ้นสิ่งที่เราต้องควรทำคือ ไม่สนใจ(เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น) และไม่ให้เขาเล่นคอมพิวเตอร์ เพราะถ้าให้ในสิ่งที่เขาต้องการในครั้งที่พฤติกรรมที่ท้าทายนั้นเกิดขึ้น ทุกครั้งที่เขาต้องการอะไรแล้วไม่ได้ พฤติกรรมที่ท้าทายนั้นๆก็จะเกิดขึ้น 

วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์





Monday, May 4, 2015

ออทิสซึ่ม คืออะไร

ออทิสซึ่ม คือบุคลิกที่ยากในการเข้าสังคม ยากในการสื่อสาร และบุคลิกที่มีพฤติกรรมซ้ำๆ อย่างไรก็ตาม อาการและความร้ายแรงของพฤติกรรมเหล่านี้มีหลายรูปแบบภายใน 3กลุ่มที่พูดถึง บางครั้งถ้ารวมทุกอย่างด้วยกันผลลัพธ์อาจทำให้อาการที่ออกมาเล็กน้อยในคนที่เป็นออทิสติกขั้นร้ายแรงบางคน แต่สำหรับบางคนอาจร้ายแรงมาก เพราะการมีพฤติกรรมซ้ำๆและการไม่สามารถการสื่อสารนั้นเป็นอุปสรรค์ในการใช้ชีวิตประจำวัน


ฉันได้ทำการค้นคว้าด้วยตัวของฉันเอง เกี่ยวกับออทิสซึ่ม ค้นพบได้ว่าจริงแล้ว ออทิสซึ่มไม่ไช่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ แต่เป็นแค่ชื่อเรียกพฤติกรรมของคนเหล่านี้ ฉันลองคิดกลับไปสมัยเด็กๆ  ฉันมีเพื่อนบางคนที่ติดกัดเล็บ ดูดนิ้วมือ พูดช้า เป็นลมบ้าหมูบ่อย พูดติดอ่าง ขี้เหม่อ ขี้อายไม่ชอบมองหน้าคนพูด หรือพฤติกรรมหลายต่อหลายอย่าง ที่ฉันมองว่าเป็นเรื่องปกติของเด็ก เดี๋ยวโตขึ้นพวกพฤติกรรมพวกนี้ก็จะหายไปเอง แต่ฉันกลับมาลองคิดดู ว่าพวกเราเรียกพฤติกรรมเหล่านี้ว่าอะไร? อืม.....ฉันไม่รู้สิ แต่สมัยนี้พฤติกรรมเหล่านี้เป็นอาการของออทิสซึ่ม ฉันเคยคุยกับแพทย์ที่ประเทศไทย สรุปได้ว่าอาการมีอยู่ 50อาการ ถ้าเด็กมีอาการ 25% หรือมากกว่านั้น ถือว่าเป็นออทิสติก แต่ที่อเมริกาถ้ามี 1 อาการที่ทำให้การเรียนรู้ของเด็กช้าลงนั้นถือว่าเข้าข่ายออทิสซื่ม
แสดงว่าใครจะเรียกลูกเราว่าอย่างไรก็เป็นสิ่งไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นจะเป็นอุปสรรค์ในการเรียนรู้และการใช้ชีวิตประจำวันของเขาหรือเปล่า ฉันเชื่อว่าเด็กทุกๆคนมีข้อดีและข้อเสีย แต่ฉันเลือกที่จะมองลูกของฉันแต่เพียงข้อดีแล้วทิ้งข้อเสียลงกระดาษ ข้อเสียในกระดาษเหล่านั้นเป็นเสมือนปมเชือก บางปมซับซ้อนบางปมแค่สกิดก็หลุดออก เมื่อฉันสามารถมองแต่ข้อดีของลูกได้ มุมมองของฉันในการมองเด็กก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เมื่อเห็นเด็กคนอื่นงอแง ฉันกลับเข้าใจรู้ว่ามันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเด็ก ซึ่งมันเกิดขึ้นได้จากหลายๆสาเหตุ ถ้าเรารู้สาเหตุก็อาจจะแก้ไขได้หรือทำให้เด็กรู้สึกดีขึ้น
การมองเพียงส่วนดีในตัวลูกไม่เพียงแต่ทำให้ตัวฉันเองมองโลกในแง่ดีขึ้น มันทำให้ผู้ปกครองคนอื่นที่มีปัญหากับลูกของเขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องหลบๆซ่อนๆทุกครั้งที่เด็กแสดงอาการออกมา แล้วตัวเด็กเองก็จะรับรู้ได้ถึงการยอมรับในสังคม และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยให้เด็กกล้าที่จะเข้าร่วมสังคม

วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์

Saturday, May 2, 2015

วิธีสอนให้นั่งนิ่ง (ใช้วิธี ABA Applied Behavior Analysis)

ก่อนที่ฉันจะเริ่มการฝึก ฉันตั้งตั้งเป้าหมายให้เขา แล้วเขียนลงในบันทึก เป้าหมายทุกเป้าหมายที่ฉันตั้ง ฉันจะไม่มีการกำหนดเวลาว่าภายในอาทิตย์นี้ หรือเดือนนี้ต้องทำได้ แต่ฉันจะดูที่ความสามารถของเขามากกว่า เป้าหมายของการให้นั่งนิ่ง คือ เป้าหมาย 1. 20 วินาที
                                                                              2. 60 วินาที
                                                                              3. 2 นาที
                                                                              4. นั่งทำกิจกรรมได้ 5 นาที
                                                                              5. นั่งทำกิจกรรมได้ 20 นาที
อุปกรณ์
1. นาฬิกาจับเวลา (แบบตัวเลขและปุ่มกดใหญ่ๆยิ่งดี เพื่อให้เด็กสามารถใช้ได้เองในอนาคต)
2. ที่นั่งแบบต่างๆ เช่น เก้าอี้ เบาะนั่ง หรือโซฟา
3. ของรางวัล
วิธีสอน
- ตั้งคำสั่ง คำสั่งต้องเป็นคำที่สั้นและชัดเจน ช่วงแรกฉันใช้คำว่า "นั่งลง" พอเขาทำตามคำสั่งได้สัก 80% ฉันก็ใช้คำสั่งที่หลากหลาย เพื่อให้เขาเข้าใจภาษาในหลายรูปแบบ เช่น นั่งตรงนี้ มานั่งบนเก้าอี้ ไปนั่งอ่านหนังสือกัน
- จับเขามายืนหน้าเก้าอี้ บอกคำสั่ง "นั่งลง" จับที่หัวไหล่หรือแขนของเขาทั้งสองข้าง แล้วกดตัวเขาให้นั่งลงบาเก้าอี้ พอเขาเริ่มเข้าใจคำสั่ง ฉันก็ค่อยๆลดการช่วยลงทีละนิด เช่น ครั้งต่อไปฉันแค่บอกคำสั่ง แล้วจับที่หัวไหล่ พอเขาทำได้ฉันก็ใช้แค่คำสั่ง แต่ถ้าเขาทำไม่ได้ฉันก็ต้องเพิ่มขั้นตอนในการช่วย
- คว้ามือทั้งสองข้างวางลงบนตักของเขาค้างไว้ประมาณ 3-5 วินาที ในกรณีนี้เหมือนกับข้างต้น พอเขาทำได้ก็ค่อยๆลดการช่วยลง เช่น จากค้างไว้ 3-5 วินาที เป็นวางมือบนมือของเขาโดยที่ไม่สัมผัส 3-5 วินาที ครั้งถัดไป เอามือออก แต่นั่งข้างๆเขา แล้วค่อยๆออกห่างทีละนิดๆในครั้งถัดๆไป
- เมื่อนาฬิกาจับเวลาดัง ชมเขาทันทีและแสดงท่าทางภูมิใจในตัวเขา ฉันชมเขาว่า "ว้าว! นั่งลงได้เก่งมากเลย" กอด เขา ปรกมือให้เขา (ควรมีคำที่ใช้สั่งอยู่ในคำชม เพื่อให้เขาเข้าใจถึงสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดี ที่ทำให้ได้คำชม)
- ให้รางวัลทันทีที่ชมเสร็จ
หลังจากเสร็จรอบนึง ส่วนมากฉันจะปล่อยให้เขาทำอะไรก็ได้ตามใจเขา ประมาณสัก 5นาทีแล้วฝึกอีกครั้ง แต่บางครั้งก็ฝึกติดกันเลยไม่มีให้พัก เพราะฉันเห็นว่าเขากำลังสนุกกับการเรียนหรือเขาอยากได้รางวัลอีก แล้วแต่ในกรณี แต่ที่สำคัญ ไม่ควรให้เขาล้าก่อนที่จะหยุดพัก หรือพูดง่ายๆ หยุดพักก่อนที่เขาจะงอแง ถ้าเขางอแงแล้วทำให้การฝึกต้องหยุดลง เขาก็จะงอแงทุกครั้งที่เขาอยากหยุดหรือไม่อยากทำอะไรที่เราให้เขาทำ พอเขาทำได้โดยไม่มีการงอแง ฉันก็เริ่มเพิ่มเวลาให้นานขึ้น จาก 5วินาที ก็เป็น 10 และ 20 ขึ้นไปเรื่อยๆจนถึง 5นาที แต่ถ้าครั้งไหนที่เขาทำไม่ได้ ฉันก็จะลดลงมา5วินาทีหรือมากกว่านั้น ตัวอย่างเช่น เขานั่งเฉยๆไม่ได้ในครั้งที่ฉันจับเวลา30วินาที ครั้งต่อมาไปฉันก็จะจับเวลาที่25วินาที

สำหรับเด็กที่ต้องไปโรงเรียนแล้วยังไม่สามารถนั่งนิ่งได้ ฉันขอแนะนำตัวช่วย เสื้อกักที่มีน้ำหนักท่วง หรือ ผ้าที่มีน้ำหนักวางบนตัก ถ้าเด็กเล็กใช้น้ำหนักประมาณ 1กิโลกรัม เด็กโตประมาณ 2-3 กิโลกรัม ใช้เฉพาะช่วงเวลาที่เขาต้องนั่งทำงาน ฉันบอกกับคุณครูของลูก ทางคุณครูจัดหามาใช้แล้วได้ผลเป็นอย่างดี

การฝึกแบบนี้เรียกว่า พฤติกรรมบำบัด ABA (Applied Behavior Analysis)สิ่งที่สำคัญของการฝึกแบบนี้คือการให้รางวัล เมื่อเขาเริ่มคล่องกับการฝึก ฉันก็จะค่อยๆลดของรางวัลลง แต่จะเพิ่มคำชมให้มากขึ้น ฉันพยายามหาคำชมมาชมเขาให้หลากหลาย เพื่อไม่ให้เขาจำเจ และใช้น้ำเสียงที่หลากหลายเพื่อให้เขาเข้าใจถึงความภาคภูมิใจในตัวเขา




























วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์

Wednesday, April 22, 2015

รางวัล

การให้รางวัลเด็กเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่ง อย่าว่าแต่เด็กเลย กับผู้ใหญ่เองก็สำคัญมากเหมือนกัน อย่างเช่นว่า ถ้าเราเห็นคนทำกระเป๋าเงินหล่น เราเก็บไปคืนเจ้าของ รางวัลที่ได้มาเป็นคำขอบคุณหรือบางทีเป็นเงินนิดหน่อยเป็นค่าตอบแทนที่นำมาคืน แต่ถ้าเราไม่ได้รางวัลละ หรือยิ่งไปกว่านั้นกลับเป็นคำต่อว่า แล้วเราจะยังอยากเก็บกระเป๋าเงินไปคืนเขามั้ย? เช่นเดียวกับเด็ก สิ่งที่พวกเขาอยากได้คือรางวัล แต่รางวัลนั้นจะเป็นอะไร ต้องพิจารณาจากเด็กแต่ละคน รางวัลนั้นอาจจะเป็น ของกิน, คำชม, ของเล่น, หรือเวลาพัก ฯลฯ แรกๆฉันเลือกที่จะใช้ขนมเป็นของรางวัล บางทีใช้ลูกเกด บางทีใช้ลูกกวาดเล็กๆ แต่ทุกครั้งก่อนที่จะให้ ฉันจะชมเขา ถ้าเขาทำได้โดยฉันไม่ต้องช่วย ฉันจะชมเขามากเป็นพิเศษ มากในที่นี้ไม่ได้หมายถึงหลายครั้งแต่หมายถึง ชมอย่างน่าตกใจ กอดเขาหรือไฮไฟว์กับเขาด้วยความภาคภูมิใจ แล้วค่อยๆลดของรางวัลลงแต่เพิ่มคำชมให้มากขึ้น อาจทำได้โดยการใช้กระดานรางวัล จากที่ลูกได้รางวัลทุกๆครั้งที่ทำได้ เขาก็จะได้เป็นเหรียญหรือแต้มแทน ถ้าเขาทำได้ครบตามที่กำหนดเขาก็จะได้รางวัลนั้น จากนั้นฉันก็เพิ่มจำนวนเหรียญให้มาขึ้นจาก 5 เป็น 8 แล้ว 10 แล้ว 15 จากที่เป็นของกิน ก็เป็นของเล่นหรือเวลาพัก ฉันทำกระดานรางวัลไว้หลายแบบ เพื่อไม่ให้เขาจำเจ มีกระดานอันหนึ่งที่ลูกชอบมากเป็นพิเศษ เป็นกระดานที่ฉันวาดเป็นสนามรถแข่ง แล้วตัดรูปรถประมาณแปดรูปแล้วเคลือบพลาสติก ติด Velcro เมื่อเขาทำได้ฉันให้รถเขา 1รูป ให้เขาแปะลงบนสนามแข่งเอง พอเขาทำได้โดยไม่ต้องช่วย ฉันให้เขา 2-3รูป จนถึงเส้นชัย เขาได้รางวัลที่เขาต้องการ
ตัวอย่างกระดานรางวัล1
ตัวอย่างกระดานรางวัล2
ตัวอย่างเหรียญรางวัล






วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
ติดตามเรื่องราวกันต่อที่ Facebook




Monday, April 20, 2015

จัดตารางการสอน

ฉันนั่งหลับตาจินตนาการถึงลูกในเหตุการ์ณปกติในบ้าน แล้วจดไว้ได้ความว่า
ตื่น เดินมาใกล้ พูดว่า "I want milk" นั่งดื่มนม นมหมดวิ่งไปวิ่งมาหลังโซฟา กระโดดๆวิ่งๆ บอกให้นั่งลงอ่านหนังสือด้วยกัน ร้องไห้ ตะโกน "SIT" โขกหลังหัวกับพื้น สักพักใหญ่ถึงยอมนั่งลง นั่งบนตัก ขณะอ่านหนังสือให้ฟังทำเสียง อิอี จิจี ถามว่าอันนี้เรียกว่าอะไร อันนี้อยู่ไหน ก็ไม่ตอบ เหมือนมองไปทางอื่น ไม่ได้มองที่หนังสือ ลุกขึ้นบอก "I want milk"
ขณะที่คิด ความรู้สึกเหนื่อยล้ามันก็เกิดขึ้น รู้สึกเหมือนต้องการสูดออกซิเจนให้เข้าไปในปอดลึกๆ ให้คาร์บอนไดออกไซด์มันออกมาให้หมดตัว แล้วฉันก็หลับตาจิตนาการอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ฉันวาดภาพในสิ่งที่ฉันอยากเห็นอยากให้เป็น ได้ความว่า
ตื่น เดินมามองที่ฉันแล้วพูดว่า "Mommy, I want to drink milk, please" นมหมด นั่งเล่นของเล่นที่พื้น บอกถึงเวลาอ่านหนังสือด้วยกัน เดินมานั่งข้างๆ ถามว่าอันนี้อะไร อะไรอยู่ไหน ตอบได้ ชี้ได้ สนุกในการใช้เวลาด้วยกัน
จากนั้นฉันนั่งวิเคราะห์ ว่าฉันต้องการอะไรจากเหตุการ์ณทั้งสองเหตุการ์ณนี้
- อยากให้พูดได้เต็มประโยค
- อยากให้เวลาพูดใช้สายตามองที่คนที่พูดด้วย
- อยากให้นั่งนิ่งๆ ทำงานหรือเล่นได้คนเดียว
- อยากให้ใช้คำพูดเพื่อแสดงอารมณ์ โดยเฉพาะเวลาไม่พอใจ
- อยากให้ตอบคำถามหรือแสดงท่าทีตอบกลับ
- อยากให้สนใจหรือติดตามเนื้อเรื่องในหนังสือและโทรทัศน์
จากนั้นฉันก็เรียงลำดับ สิ่งไหนที่น่าจะมาก่อนหรือหลัง ได้ลำดับดังนี้
1. นั่งนิ่ง
2. มองหน้าคนพูด
3. ติดตามเนื้อเรื่อง
4. ตอบคำถาม
5. พูดเต็มประโยค
6. ใช้คำพูดแสดงอารมณ์
เริ่มต้นจากเช้า ฝึกนั่งนิ่ง 30วินาที - 1นาที ประมาณ 1 - 3ครั้ง พักประมาณ 5 - 10นาที ระหว่างครั้ง
ฝึกมองหน้าคนพูด 5 - 10ครั้ง ใน 1รอบ พักประมาณ 30วินาที - 1นาที ระหว่างครั้ง
ฝึกติดตามเนื้อเรื่อง 1ครั้ง
ฝึกตอบคำถาม 3 - 10ครั้ง (สามารถฝึกได้ทุกที่)
ช่วงบ่าย ทำเช่นเดียวกัน
ณ ตอนนี้ฉันคิดว่าลูกยังไม่พร้อมกับการฝึกพูดเต็มประโยคและฝึกใช้คำพูดแสดงอารมรณ์ เพราะฉะนั้นจะข้ามไปก่อน

วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
ติดตามเรื่องราวกันต่อที่ Facebook

Sunday, April 19, 2015

การยอมรับ

คิดว่าการเรียนรู้แต่เพียงที่บ้านนั้นยังไม่เพียงพอ โรงเรียนเลยเป็นสถานที่สำคัญที่ต้องให้ลูกเผชิญ ไปโรงเรียนได้อาทิตย์แรก คุณครูก็เรียกพบเพราะอยากพูดคุยถึงความกังวลที่คิดว่าน่าจะมีอะไรผิดปกติกับลูกของเรา และแน่นอนว่าฉันปฏิเสธความกังวลของพวกเขาไปด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับความผิดปกติในรูปแบบต่างๆของวัยนี้ พบได้ว่าบางสิ่งบางอย่างมันตรงกับลูกของเราไม่มากก็น้อย และอาการเหล่านี้ก็เริ่มมากขึ้น ถึงกับไม่สามารถขวบคุมได้ บอกกับลูกว่ามานั่งอ่านหนังสือกัน เขานั่งได้ประมาณ10วินาที ก็กระโดดตัวขึ้นวิ่งไปมา พอมีการบังคับให้นั่งลง เขาก็มีอาการต่อต้านโดยกรี้ด ร้อง โขกหัวลงพื้น ยังงัยก็ไม่ยอมกันเลยทีเดียว
ผ่านปีการศึกษาชั้นเด็กเล็ก มาถึงชั้นเตรียมอนุบาล เพียงแค่เดือนเดียวครูก็เรียกพบ คราวนี้ให้เหตุผลที่ว่าเขารบกวนการเรียนของเด็กคนอื่น ความรู้สึกของฉันลึกๆในครั้งนี้เริ่มที่จะยอมรับได้ แต่คำพูดที่กล่าวออกไปกับครูที่นั่นแสดงถึงความไม่ยอมรับในสิ่งที่เขากล่าวหา เพราะอะไรหนะหรือ อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่ค่อยให้เกียรติฉันกับครอบครัวเสียเท่าไร ฉันจึงตัดสินใจเอาลูกออกจากโรงเรียนนี้ แต่ก่อนออกฉันเข้าไปทวงเงินค่าเทอมลูกคืน หึหึ ด้วยความไม่พอใจที่เขาไม่ให้เกียรติเรา ทางโรงเรียนบอกว่าให้คืนไม่ได้ฉันเป็นคนเอาลูกออกเอง ฉันจึงบอกเขาว่า แล้วจะให้ฉันทำอย่างไร ในเมื่อคุณบอกว่า ทางโรงเรียนไม่สามารถรับลูกฉันเรียนที่โรงเรียนนี้ได้ ในที่สุดเขาก็ยอมรับว่าสิ่งที่เขาพูดไปนั้นไม่ถูกต้อง จึงให้เงินคืนในส่วนหนึ่ง
ในเวลาเดียวกัน การยอมรับของฉันช่วยผลักดันตัวฉันเองให้ค้นคว้าหาแบบการเรียนการสอนที่เฉพาะเจาะจงเพื่อเด็กพิเศษ แล้วก็ได้เจอระบบการสอนแบบตัวต่อตัว ฉันฝึกฝนวิธีการสอนในตอนดึก เช้ามาก็เริ่มสอนลูก การเลือกหัวข้อที่จะนำมาสอนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนดี ฉันต้องนั่งนิ่งๆปิดตาแล้วนึกภาพลูกมองว่าเขากำลังทำอะไร แล้วนึกอีกทีในสภาวะเดียวกันแต่จริงๆแล้วฉันอยากให้ลูกทำอะไร พอนึกได้แล้วฉันก็จดใส่กระดาษ แล้วนั่งวิเคราะห์ว่าจุดไหนควรจะเริ่มเป็นอย่างแรกแล้วอะไรถัดมา เป็นลำดับๆไป พูดได้เลยว่าต้องใช้ความใจเย็นอย่างสูง ใครก็ตามที่กำลังอ่านบทความนี้และตกอยู่ในสภาวะที่คล้ายคลืงกันกับกรณีของฉัน ฉันขอเป็นกำลังใจให้อย่างที่สุด ยากลำบากอย่างไรเราจะเดินไปด้วยกันตั้งแต่ต้นจนจบ
ติดตามเรื่องราวในปัจจุบันและรับข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ที่ Facebook



ติดตามเรื่องราวกันต่อที่ Facebook

Saturday, April 18, 2015

จุดเริ่มต้น

เด็กที่เกิดมาทุกคนเป็นเด็กที่น่ารัก น่าชัง ไม่ว่าพวกเขาทำอะไร ก็สามารถเพิ่มรอยยิ้มให้ทุกคนที่เห็นได้
ฉันก็เป็นคนนึงที่เหมือนแม่ทุกๆท่าน ที่ถนุถนอมลูกน้อยของตัวเองได้เป็นอย่างดี พอถึงวัยที่เขาสามารถทำอะไรได้ ฉันก็จะลองภูมิลูกโดยการให้เขาก้าวข้ามขั้นไปหนึ่งก้าว ครั้งที่เขาทำได้ เป็นที่แน่นอนว่าฉันดีใจอย่างมาก ครั้งที่ทำไม่ได้ก็ไม่เคยเสียใจ กลับเพิ่มความเข้าใจในตัวลูกมากขึ้นไปอีก ช่วงที่ลูกอายุได้ 2ปี มีความรู้สึกว่าอยากให้ลูกได้ไปโรงเรียน มีเพื่อนเล่น เจอคนใหม่ๆ และอยากให้เขาพูดคุยมากขึ้น แต่ที่อเมริกาเขาไม่นิยมนำลูกเข้าโรงเรียนในช่วงอายุนี้ ในช่วงนั้นเขาจะเอาอะไรเขาก็ชี้หรือพูดเป็นคำ บางทีก็พูดบ้างบางทีก็เหมือนใจลอยไม่พูดจา อย่างเช่น บอกให้เขาบอก ไฮ กับคุณพ่อ บางทีก็พูด บางทีก็ไม่ ตอนที่ไม่ เหมือนเขาไม่สนใจอะไรทั้งนั้น อยากให้เขานั่งนิ่งเล่นของเล่น เขากลับวิ่งไปมาทั้งวี่วัน ไม่ค่อยมีของเล่นอะไรที่เขาเล่นได้จริงๆจัง ส่วนมากจะเอามาจ้องดู เหวี่ยงไปมา หรือหมุนรอบๆ ส่วนตัวฉันเองก็ไม่อยากปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่มีประโยชน์ ในเมื่อเขาไม่อยากเล่น เรามานั่งเรียนหนังสือก็แล้วกัน ฉันเลยเริ่มสอนหนังสือเขา ในตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร จึงทำการศึกษา การสอนเด็กเล็ก เน้นวิชาความรู้ เพราะลูกไม่ชอบเล่น จึงจัดตารางและทฤษฏีขึ้นมาให้เหมาะสมกับลูกโดยเริ่มจากการ ร้องเพลงต่างๆเช่น abc, itchy bitsy spider, row row your boat, ฯลฯ พอเห็นว่าเขาเริ่มชอบ ฉันก็ให้เขาดูภาพหรือตัวหนังสือประกอบไปด้วย แต่จะให้เป็นทีละนิดๆ เพราะกลัวว่าเขาจะเบื่อ แล้วจะกลายเป็นไม่ชอบการเรียนแบบนี้ไป หลังจากนั้น ฉันสังเกตุได้ว่าลูกชอบตัวหนังสือ ชอบดูรูปภาพ และชอบดนตรี เขาเริ่มร้องเพลงเองแต่ฟังไม่ค่อยออกว่าร้องอะไร บางทีฉันพิมพ์เนื้อเพลงออกมา พิมพ์ตัวใหญ่ๆ แรกๆพิมพ์สีแดง หลังๆเห็นว่าเขาอ่านได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นสีดำและเล็กลง ตอนเขาอายุได้ 2ปีครึ่ง เขาสามารถอ่านคำได้หลายคำ น่าจะประมาณ40คำ ถึงแม้ว่าเขาจะอ่านได้เก่งแค่ไหน แต่การพูดคุยยังไม่ค่อยคืบหน้าเสียเท่าไร ฉันเลยคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่เขาควรจะไปโรงเรียนเสียที พอได้ไปโรงเรียน ปัญหาหลายต่อหลายอย่างก็เข้ามา ฉันจึงตัดสินใจเอาลูกออกจากโรงเรียนครึ่งปีแล้วจัดหาโรงเรียนที่เหมาะสมกับเขา เวลาครึ่งปีนี้ฉันทำจะทำทุกอย่างให้เขาสามารถกลับเข้าไปในโรงเรียนได้อย่างไม่มีปัญหา ฉันตัดสินใจเรียนประกาศณียบัตรศึกษาเกี่ยวกับการสอนในแบบฉบับการบำบัดด้านพฤติกรรมแบบประยุกต์ ABA (Applied Behavior Analysis) เพราะฉันคิดว่าการบำบัดด้านนี้จะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมให้คงอยู่ต่อเนื่อง หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาและสร้างพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการได้ถูกต้อง ประกอบกับการค้นคว้าการสอนในหลายรูปแบบที่ฉันนำมาดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับการสอนลูกของฉัน การเรียนการสอนในส่วนมากที่ฉันเลือกมาใช้นั้นจะเน้นในด้านระบบสัมผัสและการเรียนรู้ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของ "รักษาลูกออทิสติก"

วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
ติดตามเรื่องราวกันต่อที่ Facebook