Tuesday, January 12, 2016

floor time (ขั้นต้น)

ฉันเคยได้ยินคำว่า floor time มาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะที่ประเทศไทย เขามักจะใช้คำนี้เพื่อบอกให้ผู้ปกครองหันมามีเวลาเล่นกับลูก แต่จริงๆแล้ว floor time มันมีอะไรทีมากไปกว่านั้น มันเป็นการเล่นกับเด็กโดยที่ในเวลาเดียวกันเราใส่การสอนให้เด็กมีการเตรียมพร้อมกับการเข้าร่วมสังคมอย่างถูกต้อง และยังช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องภาษาได้ง่ายขึ้นเพราะเด็กได้เรียนรู้ภาษาผ่านสิ่งที่เขาสนใจ
ฉันใช้วิธีนี้ในช่วงแรกๆที่ฉันพอจะมีเริ่มรู้ว่าเขาช้าในเรื่องของภาษา ฉันไม่เคยบันทึกการ floor time กับลูกของฉันเลย มันทำให้ฉันลืมนึกถึงมันจนวันก่อนเก็บบ้านแล้วเจอหนังสือที่เคยอ่านไว้ ฉันคิดว่าวิธีขั้นต้นนี้เหมาะกับเด็กเล็ก เพราะมันเน้นการเล่นเป็นหลัก แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถใช้ได้กับเด็กโต ฉันคิดว่าลักษณะนิสัยของเด็กโตหรือว่าผู้ใหญ่บางคนยังเป็นเหมือนเด็ก พวกเขาอาจจะต้องใช้วิธีนี้เพื่อเริ่มต้นแล้วค่อยๆให้เขาเรียนรู้เพิ่มเติมจนกระทั่งถึงจุดที่เขาเข้าใจว่า สิ่งไหนที่เหมาะกับตัวเขา
floor time ขั้นต้นนี้ จะเน้นเสริมสร้างทักษะการมองหน้า การมีส่วนร่วม และเข้าใจภาษา ไม่จำเป็นต้องทำตามลำดับ แต่ไม่ควรมองข้าม
1.แปะมือ/ไฮไฟว์
ยกมือขึ้นข้างหน้าแล้วบอก "แปะมือ!" ถ้าเขาไม่แปะมือตอบหลังจากที่ถามสัก 2-3ครั้ง ให้หันไปที่คนข้างๆ(ถ้ามีอีกคนอยู่ด้วย)เพื่อเป็นตัวอย่าง "แปะมือ! เย้"
ถ้าไม่มีคนอื่นช่วยเป็นตัวอย่าง ให้ใช้อีกมือจับที่มือของเด็กมาแปะที่มือของผู้สอน
- ช่วยเรียกร้องความสนใจของเด็ก ทำให้เด็กเริ่มมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อๆไป

2. อยู่ไหน
ใช้ผ้าคลุมหัวเด็กแล้วบอก "อยู่ไหน อยู่ไหน (ชื่อเด็ก)" ทำท่าทางเหมือนมองหา พอเขามีท่าทางดึงผ้าออก ให้ผู้สอนมองไปที่หน้าเด็กแล้วบอก "จ๊ะเอ๋"
ถ้าเขาไม่ดึงผ้าออกก็ย้ำ "อยู่ไหน อยู่ไหน (ชื่อเด็ก)" สัก2-3ครั้ง ถ้าเขายังไม่ดึงผ้าออก ให้ดึงผ้าออกให้เด็ก "จ๊ะเอ๋"
ถ้าเด็กเริ่มที่จะเล่นด้วย ให้ลองคลุมหัวผู้สอนแล้วเล่นแบบเดียวกัน
- ช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม มีสายตามองคนที่เล่นด้วยและสนุกกับการเล่น

3. ลูกบอลอยู่ไหน
ใช้ลูกบอลลูกเล็กๆ ใส่เข้าไปในเสื้อของเด็ก ใส่ประมาณที่หน้าท้องของเขา ให้ผู้สอน แบมือแล้วอาจจะบอก "โอ๊ะ ลูกบอลไปไหน" ขณะที่พูดให้มองหน้าเด็กตลอด ถ้าเขาไม่สนใจ ให้จับไปที่ท้องของเขาในจุดที่มีลูกบอลอยู่แล้วย้ำคำพูด "ลูกบอลไปไหน" ถ้าเขามีท่าทีกระตือรือร้นที่จะเอาลูกบอลออกจากเสื้อ อาจจะบอกเขาว่า "อยู่นี่"
ถ้าเขาเริ่มสนใจลูกบอล ให้หยิบลูกบอลออกจากเขาแล้วยกขึ้นที่ระดับสายตาของผู้สอน เพื่อให้เขาสบสายตาแล้วอาจจะบอกว่า "ลูกบอล" แล้วเล่นใส่เสื้อเขาอีก
ถ้าเขาเริ่มสนใจมากขึ้น ให้เขาลูกบอลใส่เสื้อผู้สอน แล้วทำเช่นเดียวกัน ให้เขาเป็นคนหา โดยที่ไกด์เขาให้เขารู้ว่าลูกบอลอยู่ที่ไหน
- ช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม มีสมาธิมุ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีสายตามองคนที่เล่นด้วยและสนุกกับการเล่น 

4. หมู 5ตัว
จับที่นิ้วเท้าของเขาเริ่มจากนิ้วที่ใหญ่สุด แล้วพูดบทความ "หมูตัวนี้ไปตลาด"
*ทุกครั้งที่พูด ให้ผู้สอนสบตากับเด็กตลอด 
จับนิ้วเท้าถัดมา "หมูตัวนี้อยู่บ้าน"
จับนิ้วเท้าถัดมา "หมูตัวนี้กินเนื้อย่าง"
จับนิ้วเท้าถัดมา "หมูตัวนี้ไม่ได้กิน"
จับนิ้วเท้าสุดท้าย "หมูตัวนี้ร้องไห้ ฮือ ฮือ ฮือ"
ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางไต่ขาเด็กขึ้นไปจนถึงท้องแล้วจักจี้ บางทีอาจจะไต่ขึ้นจนถึงจมูกเพื่อให้เขามองที่หน้าเรา ขณะที่ทำให้พูดบทความตอนจบ "แล้ววิ่งกลับบ้าน..........."
*ถ้าเขาสนใจ โดยหัวเราะและมองหน้า ผู้สอนสามารถเล่นต่อเพื่อดึงความสนใจให้นานขึ้นโดย จับที่นิ้วเท้าอีกครั้งแล้วแกล้วทำเป็นหยิบนิ้วเท้ากิน อาจจะพูด "ง้ำ ๆๆๆ อร่อยจังเลย กินด้วยกันมั้ย?" ทำท่าว่าหยิบนิ้วเท้าแล้วยื่นให้ที่ปากเขา ย้ำสักสองสามครั้ง 
- ช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม มีสมาธิมุ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น มีสายตามองคนที่เล่นด้วยและสนุกกับการเล่น

5. ไขลาน
ใช้ตุ๊กตาไขลาน ไขให้เด็กดูแล้วอาจจะพูด "ว้าว ดูๆ" เพื่อให้เด็กสนใจที่ตุ๊กตาไขลาน ทำท่าทางตื่นเต้นขณะที่ตุ๊กตาขยับ เช่น ปรบมือ พูด"อู้ ว้าว" พอตุ๊กตาไขลานหยุด ให้บอกเด็ก "เอาอีกๆ" หันไปมองหน้าเด็กแล้วถาม "เอาอีกมั้ย?" แล้วไขลานตุ๊กตาอีกที
ถ้าเด็กเอื้อมมือหยิบตุ๊กตาไขลาน ให้ผู้สอนแบมือแล้วถาม "ช่วยมั้ย?" ถ้าเขาไม่ยื่นตุ๊กตาไขลานให้ ให้ใช้อีกมือเอื้อมจับมือที่เขามีตุ๊กตาไขลานให้ผู้สอน เมื่อรับตุ๊กตาไขลานมาให้ไขลานทันที แล้วพยายามดึงดูดความสนใจอีกที ถ้าเด็กไม่มองหรือไม่สนใจ ให้ผู้สอนหยิบตุ๊กไขลานขึ้นแล้วถือที่ตรงหน้าของผู้สอนแล้วถาม "เอาอีกมั้ย?"
ถ้าเขายังไม่สนใจ ให้ทำเหมือนตุ๊กตาไขลานเป็นเรื่องใหญ๋โต เช่น "โอโห มันเดินใหญ่เลย" "ว้าว สุดยอดไปเลย มาดูเร็ว"
ถ้าเขาไม่สนใจเลย ให้พักสักพัก แล้วลองอีกที ให้เขานั่งบนเก้าอี้ หรือบนเก้าอี้ที่มีสายขาดเข็มขัด ให้เขามีโอกาสเดินหนีให้น้อยที่สุด
- ช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม มีสมาธิมุ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น มีความเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ มีสายตามองคนที่เล่นด้วยและสนุกกับการเล่น

6. หนึ่ง สอง สาม กระโดด
ชวนเด็กให้เล่นโดยบอก "เล่นกระโดดกัน" บอก "หนึ่ง สอง สาม กระโดด"แล้วทำท่ากระโดด ให้เด็กดู ชวนเด็กให้กระโดดด้วย
สำหรับเด็กเล็กอาจจะอุ้มตัวขึ้นเมื่อพูดคำว่า "กระโดด" หรืออาจจะพูดคำว่า "ขึ้นสูง"
สำหรับเด็กโตถ้าเขาไม่กระโดด ให้หันหน้าเข้าหาเขาแล้วจับมือเขาทั้งสองมือกระโดดไปพร้อมกัน ถ้าเด็กไม่มองหน้าผู้สอนขณะเล่น ผู้สอนอาจจะลงไปนั่งยันเข่า แล้วขยับขึ้นลงเหมือนกระโดดอยู่กับที่
อย่าลืมว่าตอนนับให้นับอย่างช้าๆเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสนับเอง ทำเสียงตื่นเต้น และมองที่หน้าเด็ก
-  ช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม มีสมาธิมุ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีสายตามองคนที่เล่นด้วยและสนุกกับการเล่น

7. เดินขบวน
เมื่อเด็กลุกเดินไปมา ให้ผู้สอนวิ่งไปเดินข้างหน้าเด็กแล้วเริ่มพูดบทความ
"เดินขบวน เดินขบวน
เดินขบวน เดินขบวน" ขณะพูดให้ผู้สอนเดินเหมือนเดินพาเหรด โดยยกเท้าสูง หรืออาจจะเสริม "ซ้าย ขวา ซ้าย"
"กระโดด กระโดด
กระโดด กระโดด" ขณะพูดให้ผู้สอนกระโดดไปข้างหน้า
"วิ่ง วิ่ง วิ่ง
วิ่ง วิ่ง วิ่ง" ขณะพูดให้ผู้สอนวิ่งเล็กน้อยไปข้างหน้า
"ถึงตอนนี้......ต้อง..หยุด" ขณะพูดให้ผู้สอนหยุดอยู่กับที่
- ช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม ให้เข้าใจถึงคำว่า "หยุด"และคำกิริยาตัวอื่นเช่น วิ่งและกระโดด มีสมาธิมุ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น และสนุกกับการเล่น

8. เดินรอบดอกไม้
ชวนเด็กให้เล่นโดยบอก "มาเดินรอบดอกไม้กัน" จับมือเด็กทั้งสองข้างแล้วพูด "เอาละน้า เริ่ม" แล้วเริ่มพูดบทความ
"เดินรอบๆดอกไม้ เก็บดอกไม้เต็มกระเป๋า เหยียบ เหยียบ เหยียบ พวกเรา...ล้ม..ลง" ขณะพูดให้เดินกับเด็กเป็นวงกลมและจำมือเด็กตลอดเวลา พอถึงท่อนสุดท้ายให้แกล้งล้มลงนั่งหรือนอนกลับพื้น รอบแรกๆอาจจะต้องดึงมือเด็กเล็กน้อยให้ล้มลงด้วยกัน ถ้าเด็กยังไม่ตอบสนองให้ปล่อยมือแล้วจับที่ตัวเด็กแล้วเอนตัวเด็กล้มลงเบาๆ
- ช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม มีสมาธิมุ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น ช่วยให้เด็กได้มีการเริ่มรู้จักการรอคอยเพราะเด็กส่วนมากชอบเล่นล้มลงกับพื้น มีสายตามองคนที่เล่นด้วยและสนุกกับการเล่น

9. หลับฝันดี
แนะนำให้ใช้ตุ๊กตาที่สามารถเปิดและปิดตาได้ (ผู้สอนสามารถทำได้เองไม่ต้องใช้ตุ๊กตา เพียงแต่ตอนหลับตาผู้สอนอาจจะไม่รู้ว่าเด็กยังมองอยู่หรือเปล่า) จับตุ๊กตานั่งหรือยืนแล้วมองที่เด็ก
แล้วอาจจะบอก "ชู่......" ผู้สอนทำท่าเอานิ้วไว้ที่ริมฝีปาก
"เวลานอนใช่มั้ย" ทำท่าหาวนอน
"หลับฝันดี" จับตุ๊กตา นอนลง
"ชู่......." ทำท่าเอานิ้วไว้ที่ริมฝีปาก
"หลับฝันดี" นิ่งสัก 3-4วินาที
"หนึ่ง สอง สาม...." ยกนิ้วขึ้นนับ
"ตื่น ตื่น ตื่นได้แล้ว" พูดเสียงดังแล้วจับตุ๊กตาลุกขึ้นเหมือนตกใจตื่น
- ช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม มีสมาธิมุ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น ช่วยให้เด็กเริ่มรู้จักการรอคอย ให้เขาเข้าใจถึงเวลานอนและเวลาตื่น เริ่มให้เขามีการสังเกตุและปฏิบัติตาม มีสายตามองคนที่เล่นด้วยและสนุกกับการเล่น

10. แม่ช้าง ลูกช้าง
เมื่อเห็นเด็กวิ่งหรือเดินรอบๆห้อง ผู้สอนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับเด็กได้โดยอาจจะพูด
"แม่ช้างมาแล้ว.." ใช้มือทำท่าเหมือนงวงช้างวางไปที่หน้าจมูกของผู้สอน
"แม่ช้างมาแล้ว.." ย้ำแล้ววิ่งหรือเดินมุ่งไปหาเด็ก
"ลูกช้างอยู่ไหนน้า...." "ลูกช้างอยู่ไหน?" ทำท่ามองหา
"อยู่นี่ไง ลูกช้าง" ชี้ไปที่เด็ก
"ลูกช้างอยากจะเล่นกับแม่ช้างมั้ย?" อุ้มเด็กขึ้นแล้ว โยกไปมาเหมือนเล่นชิงช้า อาจจะพูด "วี ว้าว วู้.." ขณะที่โยก
"ลูกช้างเล่นเสร็จ" หรืออาจจะบอก "ลูกช้างนั่งลง" วางเด็กลงแล้วอาจจะปรบมือ "เย้"
- ช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม ช่วยให้เด็กเริ่มมีการตอบสนองเพราะเด็กส่วนมากชอบที่จะโยกไปมาเหมือนเล่นชิงช้า ช่วยริเริ่มให้เขามีการสังเกตุว่าช้างมีจมูกยาว ให้เขาเริ่มมีความเข้าใจว่าเมื่อเล่นเสร็จทุกอย่างจะหยุดนิ่งและเขาก็ควรจะนิ่งด้วย มีสายตามองคนที่เล่นด้วยและสนุกกับการเล่น


วิธีรักษาโรคออทิสซึ่ม
ของเล่นสำหรับเด็กออทิสติก
กดชอบที่ Facebook เพื่อข้อมูลเพิ่มเติมและ ABA รายสัปดาห์
ความเป็นมาของผู้เขียน